วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2557

ป้ายทะเบียนรถมีหลากสี


ท่านเคยสงสัยไหมว่าทำไม ทะเบียนรถที่เราเห็นติดอยู่กับรถยนต์ทุกคันทำไมสีป้ายทะเบียนรถถึงมีหลายสีต่างกันไป  เชื่อหลายท่านอาจจะไม่เคยรู้  จากที่ได้ข้อมูลและได้ไปศึกษามาก็สรุปได้ว่าป้ายแต่ละป้ายแต่ละสีแต่ละขนาดมันมีความหมายต่างกันออกไปตามที่กรมการขนส่งได้ระบุไว้ดั้งต่อไปนี้ มีทั้งหมดเจ็ดประเภทใหญ่
ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า

1.รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน รถยนต์รับจ้างสามล้อ รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง และรถจักรยานยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด ได้แก่ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่ใช้รับจ้างระหว่างจังหวัด โดยรับส่งคนโดยสารได้เฉพาะที่นายทะเบียนกำหนด

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีเหลืองสะท้อนแสง

-ตัวอักษร หมายเลขทะเบียน และขอบแผ่นป้ายเป็น

สีแดง สำหรับรถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด

สีดำ สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน และรถจักรยานยนต์

สีเขียว สำหรับรถยนต์รับจ้างสามล้อ

สีน้ำเงิน สำหรับรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง

2.รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า

รถยนต์บริการธุรกิจ เช่น รถที่ใช้ขนคนในสนามบิน ท่าเรือ สถานีขนส่ง หรือสถานีรถไฟ และรถโรงแรม

รถยนต์บริการทัศนาจร เช่น รถนำเที่ยวของบริษัททัวร์ โดยรถพวกนี้

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีเขียวสะท้อนแสง

-ตัวอักษร หมายเลขทะเบียน และขอบแผ่นป้ายเป็นสีขาว

3.รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ พวกรถส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเก๋ง รถตู้ รถกระบะ มอเตอร์ไซค์ รถ MPV หรือรถ SUV โดย

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีขาวสะท้อนแสง

-ตัวอักษร หมายเลขทะเบียน และขอบแผ่นป้ายเป็น

สีดำ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน และรถจักรยานยนต์

สีน้ำเงิน สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน

สีเขียว สำหรับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

สีแดง สำหรับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล

หมายเหตุ จะมีแผ่นป้ายทะเบียนชนิดพิเศษ พวกเลขสวย โดยจะเป็นป้ายที่ออกให้ประมูล ซึ่งจะมีสีของพื้นแผ่นป้ายทะเบียน หมายเลขทะเบียน และตัวอักษรต่างไปจากแผ่นป้ายทะเบียนปกติ และแต่ละจังหวัด สีของพื้นแผ่นป้ายทะเบียนก็จะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก (ยกเว้นรถสามล้อส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ไม่มีป้ายพิเศษนี้)

4.รถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถใช้งานเกษตรกรรม

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีส้มสะท้อนแสง

-ตัวอักษร หมายเลข และขอบป้ายเป็นสีดำ

5.รถยนต์ของบุคคลในคณะผู้แทนทางการทูต และรถจักรยานยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต

พวกรถทูต ลักษณะป้ายจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ท ตามด้วยรหัสประเทศ ขีด แล้วก็เลขทะเบียน ตัวอย่างเช่น รถทูตญี่ปุ่นก็จะเป็น ท44-9999

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีขาว (สังเกตว่าไม่มีคำว่า สะท้อนแสง)

-ตัวอักษร ตัวเลข และขีดเป็นสีดำ

6.รถยนต์ของบุคคลในหน่วยงานพิเศษของสถานทูต ในคณะผู้แทนทางกงสุล ในองค์การระหว่างประเทศ หรือทบวงการชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทย และรถจักรยานยนต์ของบุคคลข้างต้น ลักษณะป้ายก็เหมือนรถทูต แต่ต่างกันตรงที่รถในหน่วยงานพิเศษของสถานทูตจะใช้ตัวอักษร พ ส่วนรถกงสุลจะใช้ตัวอักษร ก ส่วนรถของสหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในไทย จะใช้ตัวอักษร อ และ

-พื้นแผ่นป้ายเป็นสีฟ้า (สังเกตว่าไม่มีคำว่า สะท้อนแสง)

-ตัวอักษร ตัวเลข และขีดเป็นสีขาว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ ขนาด และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ พ.ศ.2547

7.แผ่นป้ายสีแดง พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 กำหนดให้ขับขี่ได้ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

จะนำมาขับในถนนหลวงไม่ได้เว้นแต่ได้รับอนุญาต จุดประสงค์การใช้งานรถป้ายแดงคือ 

- รถมีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม 
- เป็นรถใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบฟอร์มลงทะเบียน

ถ้าคุณมีความฝัน